ไขข้อสงสัยรถแข่งกับรถบ้านต่างกันยังไง

ไขข้อสงสัยรถแข่งกับรถบ้านต่างกันยังไง

รูปลักษณ์ของรถแข่ง ที่เห็นกันจนคุ้นตา เมื่อมองผิวเผินแล้ว ก็คงจะเหมือนกัน มีเครื่องยนต์ มีล้อ มีระบบส่งกำลัง แต่จริงแล้วมันก็เหมือนกันแค่นั้น เรียกได้ว่าระหว่างรถแข่งและรถบ้านนั้นคนละสปีชีส์กันเลย สิ่งที่แตกต่างข้ออื่นมักจะเป็นระบบเทคโนโลยีที่ปกติไม่สามารถใส่ลงไปในรถบ้านธรรมดาได้ อาจจะด้วยเรื่องไม่คุ้มค่า ไม่สามารถทำกำไรได้เมื่อนำไปขาย หรือเป็นเรื่องของความปลอดภัย โดยพอจะจำแนกคร่าวๆถึงความแตกต่างของรถแข่งและรถบ้านได้ดังนี้

1. การจัดการด้านกำลังของรถ

ปกติรถบ้านทั่วไปผู้ผลิตจะออกแบบมาให้ควบคุมกำลังของรถได้ง่ายโดยเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ การขับรถจริงบนท้องถนนสิ่งที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าคนขับ ยังควบคุมกำลังเครื่องได้ยาก อุบัติเหตุก็ย่อมเกิดได้ง่าย เรื่องกำลังของรถยนต์ที่ส่งจากเครื่องยนต์มายังชุดเกียร์ และถ่ายไปยังล้อรถนั้นปกติจะมีการตัดกำลังที่มากให้ผ่อนลงด้วยชุดคลัตช์ (เชื่อมต่ออยู่ระหว่างเครื่องยนต์และชุดเกียร์) แต่ในรถแข่งจำเป็นต้องให้ได้กำลังสูงสุดเพื่อความเร็วแห่งชัยชนะ ดังนั้นการออกแบบของชุดคลัตช์ในรถแข่งไม่ได้เน้นไปที่เรื่องการตัดกำลังส่งจากเครื่องยนต์เป็นหลัก แต่ปล่อยให้ผู้ขับรถแข่งเป็นคนควบคุมการลดแรงเพิ่มแรงจากเครื่องยนต์ได้อิสระมากขึ้นซึ่งมีเทคนิคต่างๆ ที่ซับซ้อนในฐานะนักแข่งรถมากมาย ส่วนรถบ้านก็เน้นใช้คลัตช์เป็นตัวตัดการส่งกำลังจากเครื่องยนต์แล้วก็ยังมีระบบช่วยเหลือการขับขี่อื่นๆเข้ามาช่วย

2ระบบกันสั่นสะเทือน

การขับรถแข่งในสนามแข่ง รถแข่งนั้นจะถูกออกแบบโดยตัดข้อควรคำนึงด้านสภาพถนนออกไปมาก รถแข่งแต่ละแบบก็มีความเหมาะสมบนสนามแข่งที่แตกต่างกัน เรียกว่าข้อจำกัดค่อนข้างชัดเจน จึงเน้นออกแบบรถแข่งให้เหมาะกับสภาพถนนนั้นๆ อย่างเช่นกรณีแข่งในสนามทางเรียบ ก็ออกแบบรถที่คำนึงถึงระบบกันสั่นสะเทือนให้น้อยลง เพื่อลดน้ำหนักของรถแข่งทำให้สามารถวิ่งได้เร็วขึ้น แสดงว่าถ้าเอารถแข่งนี้มาวิ่งถนนปกติบ้านเราที่มีทั้งลูกระนาด ทางขรุขระ ถนนลูกรังแล้วล่ะก็ กระแทก กระเทือน กระจายแน่นอน เพราะช่วงล่างไม่ได้ออกแบบระบบกันสั่นสะเทือนมาให้เหมาะกับถนนปกติ ในขณะที่รถบ้านนั้นระบบกันสั่นสะเทือนใส่รถออกมาอย่างไรให้ต้นทุนไม่แพงและสามารถช่วยกันสั่นสะเทือนให้ลูกค้า หรือผู้ขับได้มากที่สุด

3. อายุการใช้งาน

รถยนต์บ้านทั่วไปถูกออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานยาวนานอย่างน้อยก็เท่ากับระยะเวลาที่บริษัทรถยนต์นั้นๆรับประกันไว้ เช่น 3 ปี 100,000 กิโลเมตร แสดงว่าโดยหลักการแล้วภายในระยะเวลานี้ระยะทางนี้รถยนต์คันนั้นน่าจะต้องวิ่งได้ดี ไม่มีชิ้นส่วนเสียหายง่ายเกินไป การจะทำให้ชิ้นส่วนทนทานแบบนั้นได้ต้องใช้ความรู้ทางวิศวกรรมในการออกแบบ เช่น วัสดุที่ใช้ การทนอุณหภูมิ ความแข็งแรง การติดไฟ แต่กับรถแข่งไม่ใช่เช่นนั้นเลย การออกแบบเครื่องยนต์ของรถแข่ง สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำกำลังได้มากๆ รองลงมาคือน้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทาน แต่ไม่จำเป็นต้องมาคำนึงถึงว่าวิ่งได้นานแค่ไหน กี่กิโลเมตรจะพัง เพราะว่าทุกครั้งก่อนจะถึงการแข่งขันครั้งต่อไป จะมีการตรวจสภาพและทำการให้อยู่ในสภาพที่พร้อมแข่งขันมากที่สุด

4. ยางรถยนต์

ยางรถยนต์ของรถแข่งปกติก็จะมีขนาดหน้ากว้างกว่ารถบ้านทั่วไป ทำจากวัสดุที่นุ่มและเบากว่า และดอกยางน้อยจนถึงไม่มีดอกยาง เพราะนั่นจะเพิ่มพื้นผิวสัมผัสระหว่างยางรถกับพื้นถนนให้มากขึ้น เมื่อพื้นผิวสัมผัสมากขึ้นก็จะยิ่งเกาะถนนทำให้เข้าโค้งได้ดียิ่งขึ้น แต่อย่าให้มาวิ่งบนพื้นเปียกน้ำนะครับ รถปลิวแน่นอน และเนื่องจากวัสุดที่ทำยางล้อรถแข่งนั้นนุ่มและเบากว่าทำให้อายุการใช้งานของยางสั้นมากซึ่งก็สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสุดๆ ถ้าเป็นรถบ้านคงไม่คุ้มค่าแน่นอน

เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบรถยนต์ที่แตกต่างกัน เหตุผลหลักสูงสุดคือ จุดประสงค์ใช้งานมีไม่เหมือนกัน รถแข่งจุดประสงค์เพื่อแข่งขันต้องการความเร็ว และสิ่งที่จะทำให้เร็วได้คือรถต้องเบา เครื่องต้องแรง ในขณะที่รถบ้านต้องออกแบบให้เน้นความปลอดภัยและการขับขี่แบบสะดวกสบายมากที่สุดด้วยเงินที่จ่ายไหว

Shopping Cart
Scroll to Top