ถอดรหัส(ไม่)ลับ เบอร์น้ำมันเครื่อง

ถอดรหัส(ไม่)ลับ เบอร์น้ำมันเครื่อง

หลายๆคนคงรู้ถึงความแตกต่างระหว่างน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ และ น้ำมันเครื่องเกรดธรรมดา วันนี้อิเดมิตสึจะพามาถอดรหัส(ไม่)ลับของเบอร์น้ำมันเครื่องแต่ละตัวหมายถึงอะไร และจะต้องเลือกอย่างไรจึงจะเหมาะสม แบบเข้าใจกันง่ายๆ

อันดับแรกเรามาทำความรู้จักกับ มาตรฐาน API (American Petroleum Institute Standard) เป็นมาตรฐานสากลที่กำหนดโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะตามหลังด้วยตัว S คือน้ำมันเครื่องยนต์เบนซินและ ตัว C คือน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล

โดยทั้ง S, C จะตามหลังด้วย A,B,C,D,E… เช่น API SA , API SB หรือ API CA , API CB ซึ่งลำดับของอักษรภาษาอังกฤษนี้จะบ่งบอกถึงการพัฒนาคุณภาพน้ำมันเครื่อง หมายความว่า เกรด A มีคุณภาพต่ำที่สุด และบ่อยครั้งที่เรามักเจอตัวเลขตามหลัง เช่น API CF-4 หมายถึง เหมาะที่จะใช้กับเครื่องยนต์ 4 จังหวะเท่านั้น นอกจากนี้น้ำมันเครื่องบางชนิดอาจใช้ได้ทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล เช่น API CJ-4/SN

ต่อมาการเลือกน้ำมันเครื่องต้องพิจารณาเบอร์ความหนืดที่เหมาะสมกับการใช้งานด้วย โดยจะนำหน้าด้วย SAE (The Society of Automotive Engineer) ซึ่งเป็นสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา และตามด้วยเบอร์น้ำมันเครื่อง เช่น SAE 10W-30 บอกถึงค่าความหนืดของน้ำมันเครื่อง

โดยมีทั้งน้ำมันเครื่องชนิดเกรดเดียว ( Single Grade ) คือมีความหนืดเพียงค่าเดียว เช่น SAE 40 หมายความว่า น้ำมันเครื่องนี้มีความหนืดตามมาตรฐาน SAE เบอร์ 40 และน้ำมันเครื่องเกรดรวม ( Multi Grade ) คือมีตัวเลข 2 ชุด หมายถึงมีความหนืด 2 ค่า เช่น SAE 20W-50 หมายความว่า น้ำมันเครื่องนี้ มีค่าความหนืดตามมาตรฐาน SAE เบอร์ 20W และ 50

ยกตัวอย่าง 10W-30 ตัวเลขที่อยู่ข้างหน้า W คือ 10 เป็นค่าความหนืดในกรณีที่เครื่องยนต์ทำงานในอุณหภูมิต่ำหรือเครื่องยนต์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็น ส่วนตัวเลขข้างหลัง W คือ 30 เป็นค่าความหนืดในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานในอุณหภูมิสูงหรือเครื่องยนต์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด

เครื่องยนต์ทำงานในอุณหภูมิต่ำหรือเครื่องยนต์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็น(เพิ่งสตาร์ทเครื่องยนต์) ระบบจะต้องการน้ำมันเครื่องที่มีความหนืดต่ำหรือเบอร์จำนวนน้อยๆเพื่อให้สามารถจ่ายน้ำมันเครื่องไปหล่อเลี้ยงชิ้นส่วนที่อยู่ด้านบนได้อย่างรวดเร็ว ลดการสึกหรอจากการเสียดสี

เมื่อเครื่องยนต์ทำงานในอุณหภูมิสูงหรือเครื่องยนต์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดน้ำมันเครื่องควรมีความหนืดสูงหรือเบอร์จำนวนมากๆ เพราะไม่เช่นนั้นการทำหน้าที่ของฟิล์มป้องกันการเสียดสีระหว่างชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์จะบางเกินไปส่งผลให้เกิดการสึกหรอสูง การทำงานของเครื่องยนต์มีเสียงดัง และน้ำมันเครื่องพร่องเร็วกว่าปกติ แต่ถ้าน้ำมันเครื่องมีความหนืดเกินสูงเกินไปก็ไม่ดีอีกเช่นกัน เพราะจะส่งผลให้เครื่องยนต์อืด เร่งไม่ขึ้น และกินน้ำมันเชื้อเพลิง

วิธีการเลือกเบอร์น้ำมันเครื่องนอกจากการประเมินจากอายุการใช้งานของเครื่องยนต์(สามารถดูได้จากคู่มือ) ลักษณะการขับขี่และการใช้งานก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน

กรณีรถใหม่ ระยะไมล์ต่ำกว่า 100,000 กิโลเมตร ใช้งานในตัวเมือง ไม่ค่อยได้วิ่งระยะทางไกล ควรเลือกเบอร์น้ำมันที่มีความหนืดต่ำทั้งเลขข้างหน้าและเลขข้างหลังเพื่อให้น้ำมันสามารถเข้าถึงชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ได้อย่างทั่วถึงเนื่องจากระยะห่างระหว่างชิ้นส่วนยังมีน้อย (สำหรับรถใหม่ควรอ้างอิงและใช้น้ำมันเครื่องตามคู่มือประจำรถ)

กรณีรถที่เครื่องยนต์ผ่านการใช้งานมาหลายปี มีระยะไมล์เกินกว่า 100,000 กิโลเมตร ขึ้นไป หรือใช้งานหนักวิ่งระยะทางไกล บรรทุกของหนัก เครื่องยนต์ทำงานหนัก ความร้อนสูง ควรเพิ่มความหนืดของเลขข้างหลังให้มากขึ้น เช่น จาก 5W-30 เป็น 5W-40 เพื่อเพิ่มความหนาในการทำหน้าที่เป็นขั้นฟิล์มป้องกันการเสียดสีของชิ้นส่วน และสามารถทนความร้อนได้ดียิ่งขึ้น

เนื่องจากน้ำมันเครื่องมีความสำคัญกับเครื่องยนต์เป็นอันดับต้นๆ คนรักรถอย่างเราจึงไม่ควรมองข้าม เลือกน้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพอย่างน้ำมันเครื่องอิเดมิตสึ ที่ได้มาตรฐาน API มีเบอร์น้ำมันเครื่องหลากหลายรองรับเครื่องยนต์ที่แตกต่างกันตามผู้ใช้งาน และเรายินดีให้คำแนะนำในการเลือกใช้เบอร์น้ำมันเครื่องที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ของคุณเสมอ สนใจสอบถามได้ช่องทางดังนี้เลยครับ

Facebook : https://www.facebook.com/ApolloThailand

Line : https://lin.ee/rfazukT (Add Line ID : @apollothailand)

Shopping Cart
Scroll to Top